life is short, the stories.

share our Idea & Stories.

ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนนามอุโฆษชาวญี่ปุ่นได้กลับบ้านเกิดแล้ว – ยกมาจาก onopen

8 Comments

 

– ปรีดี หงษ์สต้น แปล –

“ก่อนหน้านี้ผมอยากเป็นนักเขียนไร้สัญชาติ แต่ผมเป็นนักเขียนญี่ปุ่น ที่นี่คือแผ่นดินของผม และนี่คือรากของผม เราไม่สามารถหนีไปจากแผ่นดินเกิดของเราได้”

…………………..

แม้ ว่าฮารูกิ มูราคามิ จะไม่ใส่ใจกับความหมายลึกล้ำที่ซ่อนเร้นอยู่ แต่เขาคงไม่ปฏิเสธวินาทีแห่งความประหลาดล้ำของชั่วขณะที่เขาตัดสินใจเขียน นวนิยายเรื่องแรกได้

เดือนเมษายน ปี 1978 ขณะที่เขากำลังนั่งดูเบสบอลอยู่บนแสตนด์ ณ สนามเมจิ-จินกุในโตเกียวพร้อมกระป๋องเบียร์ในมือ เวลานั้นมูราคามิอายุย่างเข้าสูวัย 30 ปี และได้ดำเนินธุรกิจแจ๊สคาเฟ่กับภรรยาของเขา-โยโกะ มาเป็นเวลากว่าสิบปีแล้ว

แบตเตอร์ชาวอเมริกันนามเดฟ ฮิลตัน สังกัดทีมยาคูลท์ สวอลโล่ว์ ก้าวสู่เพลท หวดลูกจากพิชท์แรกไปทางซ้ายของสนามแล้วไปถึงเบสที่สองได้อย่างไม่มีอุปสรรค ขณะที่แบตเตอร์หวดลูกบอลนั้น มูราคามิก็รู้ทันทีว่าเขาสามารถเขียนหนังสือได้

“จู่ๆ ผมก็รู้สึกขึ้นมาว่าตัวเองสามารถเขียนได้น่ะครับ” เขาบอกขณะนั่งอยู่ที่ออฟฟิศในกรุงโตเกียว ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากสนามดังกล่าวมากนัก

นวนิยายเล่มแรกของเขา Hear the Wind Sing (สดับลมขับขาน นพดล เวชสวัสดิ์ แปล สำนักพิมพ์มติชน) ใช้ชื่อจากเรื่องสั้นของทรูแมน คาโพที และมีเนื้อเพลงของวงบีช บอยส์ อยู่บนปกหลัง ได้ถูกพิมพ์ขึ้นในปีเดียวกันกับวินาทีประหลาดล้ำนั้น งานเขียนของเขาไม่ได้รับอิทธิพลจากวรรณกรรมญี่ปุ่นเท่าใดนัก ทว่ามาจากวรรณกรรมต่างชาติที่เขาอ่านในวัยเยาว์แถบท่าเรือโกเบอันเป็นที่ที่ เขาเติบโต ผนวกกับอิทธิพลจากดนตรีแจ๊สและร็อคที่โปรดปรานสมัยยังเป็นนักศึกษาอยู่ โตเกียวต่างหาก

ใจของเขาไม่ได้อยู่ที่ญี่ปุ่นนานก่อนที่เขาจะย้ายไปอยู่ต่างประเทศเสียอีก

“งานของมูราคามิไม่ได้สะท้อนถึงวรรณกรรมคลาสสิกของญี่ปุ่น แต่มันสะท้อนถึงวัฒนธรรมป็อบ โดยเฉพาะจากอเมริกา” โมโตยูกิ ชิบาตะ ซึ่งรู้จักกับมูราคามิหลายปี และยังเป็นศาสตราจารย์เกี่ยวกับวรรณกรรมอเมริกันแห่งมหาวิทยาลัยโตเกียว กล่าวไว้ นอกจากนี้เขายังตบท้ายด้วยว่า

“มูราคามิเขียนวรรณกรรมจากเรื่องเหล่านี้ได้เก่งมาก”

ฮารูกิ มูราคามิ ได้รับการต้อนรับในเวทีนานาชาติอย่างที่ไม่เคยมีนักเขียนชาวญี่ปุ่นคนใดเคย ได้รับมา

ก่อนหนังสือของเขาได้รับการแปลกว่า 40 ภาษา (ในประเทศญี่ปุ่น เขายังแปลวรรณกรรมอเมริกันชิ้นคุณภาพหลานชิ้น ล่าสุด The Great Gatsby ที่เขาแปลได้กลายเป็นหนังสือขายดีนานถึง 7 สัปดาห์) เดือนตุลาคมปีที่แล้ว ณ กรุงปราก เขาได้รับรางวัล Kafka Prize ซึ่งเป็นรางวัลอุทิศให้แก่นักเขียนที่ “มีผลงานได้รับการยอมรับอย่างกว้างขวาง โดยไม่มีพรมแดนเรื่องเชื้อชาติ ภาษา และวัฒนธรรมมาขวางกั้น”

คงจะนึกถึงผู้ที่เหมาะสมกว่าเขาได้ยากทีเดียว ปัจจุบันนี้ มูราคามิแบ่งเวลาทำงานอยู่ทั้งในโตเกียวและมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ

“งานเขียนชิ้นแรกของมูราคามิที่ผมแปลลงใน The New Yorker ทางผู้พิมพ์ให้ผมใส่คำว่า “วรรณกรรมญี่ปุ่น” ไว้ข้างบนเลย” ฟิลิป แกเบรียล ศาสตราจารย์ของแผนกเอเชียตะวันออกศึกษา มหาวิทยาลัยอาริโซนากล่าวไว้

“งานของเขาไม่ได้เจาะจงถึงญี่ปุ่นเลย คนอ่านจึงไม่แน่ใจว่าเขามาจากไหน”

ตามธรรมชาติแล้ว มูราคามิมักให้น้ำหนักกับโลกอีกส่วนหนึ่งที่ไกลออกไปมาโดยตลอด สะท้อนให้เห็นจากการเลือกอ้างถึงวรรณกรรมต่างประเทศในงานของเขา (ซึ่งอาจทำให้พ่อแม่ของเขาน้อยใจ เนื่องจากทั้งคู่เป็นครูสอนวรรณกรรมญี่ปุ่น) และสะท้อนออกมาในงานที่จงใจรักษาระยะห่างจากวงการวรรณกรรมญี่ปุ่นเอาไว้ รวมทั้งวิถีในการดำเนินชีวิตที่ “อนามัย” ของเขา

“นักเขียนและศิลปินมักจะถูกมองว่าชอบอยู่อย่างเซอร์ๆ มีชีวิตแบบไม่ค่อยใส่ใจสุขภาพครับ” มูราคามิกล่าว “แต่ผมอยากจะดำเนินชีวิตที่ต่างออกไป”

ทุกวัน เขาจะตื่นนอนเวลาตีสี่เพื่อเขียนหนังสือเป็นเวลาหลายชั่วโมง ก่อนที่จะไปว่ายน้ำหรือวิ่งจ๊อกกิ้ง ไปจนถึงวิ่งมาราธอนหรือกระทั่งไตรกีฬาเลยทีเดียว เขาบอกว่าต้องออกกำลังกายเพื่อสะสมแรงไว้ในการทำงานเขียนซึ่งต้องใช้พลังสูง มาก และผลงานของเขาก็พิสูจน์ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้เขายังบอกว่าการออกกำลังกายยังช่วยให้เขารักษาน้ำหนักเอาไว้ ได้-ทั้งที่ขณะนี้อายุ 58 แล้ว แต่เขายังน้ำหนักเท่าเมื่อตอนอายุยี่สิบปลายๆ!

ธีมของเรื่องและคนอ่านก็เป็นส่วนที่ทำให้เขายังรู้สึกเยาว์วัยอยู่ เสมอ-เอียน บูรูมา เคยเขียนไว้ว่า

นวนิยายของมูราคามิได้แสดงออกถึง “การหันหลังให้กับสภาวะต้องพึ่งพิงครอบครัว และบ่อยครั้งเป็นความเดียวดาย เป็นการประกอบไปด้วยความพยายามในการอยู่ด้วยตนเองของวัยรุ่น”

มูราคามิเคยพูดกลั้วหัวเราะไว้ว่า “ลูกสาวและลูกชายหลายๆ คนของเพื่อนผมอ่านงานของผม และพวกเขาก็บอกว่าอยากจะพบคนเขียน แต่แล้วพวกเขาก็ต้องประหลาดใจ เมื่อพบว่าคนเขียนนั้นอายุพอๆ กับพ่อแม่เลยทีเดียว!”

ในขณะที่อายุกำลังดำเนินถึงรอบที่ห้า ในใจของมูราคามิมีบางสิ่งบางอย่างที่เปลี่ยนแปลงไป สถานภาพการเป็นนักเขียนของเขาได้รับการยอมรับ นวนิยายเรื่อง After Dark ซึ่งวางจำหน่ายในเดือนพฤษภาคมได้รับการแปลเป็นภาษาอังกฤษด้วยยอดพิมพ์ มากกว่าหนึ่งแสนเล่ม อย่างไรก็ตาม แม้จะประสบความสำเร็จในเวทีนานาชาติ และมีลูกศิษย์ลูกหาทั้งจากซิดนีย์ไปจนถึงซานฟรานซิสโก มูราคามิก็เริ่มเบนเรื่องราวของต่างชาติมาสู่โลกของพ่อแม่และแผ่นดินเกิด ซึ่งแสดงให้เห็นจาก Kafka on the Shore (คาฟกา วิฬาร์ นาคาตะ นพดล เวชสวัสดิ์ แปล สำนักพิมพ์มติชน) ที่แม้จะมีนายพลแซนเดอร์สโชว์หรา แต่ก็ไม่สามารถสะกดการเบนเข็มสู่ญี่ปุ่นของมูราคามิได้ เพราะเป็นการจมดิ่งเข้าสู่ห้วงลึกลับแห่งชินโต After Dark เป็นเรื่องราวแห่งหนึ่งคืนในชิบูย่า-ย่านที่ไม่เคยหลับไหลของกรุงโตเกียว มูราคามิเดินทางกลับบ้านเกิดแล้ว!

กลิ่นอายแห่งความขบถของวัยรุ่นที่มีในงานชิ้นแรกๆ ของมูราคามิได้ลดลงไป ปัจจุบันนี้เขายึดหลัก “ความรับผิดชอบต่อสังคม” ในงานของตัวเอง

“ผมมีพรสวรรค์ในการเขียนเรื่องเหล่านี้น่ะครับ” เขากล่าวถึงงานเรื่อง Underground ในปี 1997 ซึ่งเป็นประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการสังหารหมู่ด้วยแก๊สในสถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน ของโตเกียว หนังสือเล่มนี้เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญในอาชีพนักเขียนของเขาทีเดียว

“ในเวลาเดียวกัน ผมก็ต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมด้วย” ถึงแม้เจ้าตัวจะบอกว่าไม่ต้องการพูดถึงเรื่องการเมืองญี่ป่น แต่เขากลับพูดเรื่องนี้ซ้ำแล้วซ้ำอีกในบทสนทนาครั้งนี้ คิ้วหนายักไปด้วยขณะที่เป็นห่วงถึง “นักการเมืองผู้ซึ่งเขียนประวัติศาสตร์ใหม่” และห่วงถึงรัฐบาลใหม่ของนายกฯ ชินโซ อาเบะ ที่กำลังจะพาให้ประเทศลืมความชั่วร้ายของสงคราม ประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นเป็นแบคกราวนด์ในงานของมูราคามิมาโดยตลอด และแม้ในนวนิยายที่ดีที่สุดของเขาในปี 1994 Wind-Up Bird Chronicle (บันทึกนกไขลาน นพดล เวชสวัสดิ์ แปล สำนักพิมพ์มติชน)ได้วิเคราะห์ความคิดต่างๆ ที่นำญี่ปุ่นไปสู่สงครามแห่งการทำลายล้าง-แต่ในเวลานี้เขาต้องการการลงมือ กระทำ

“ก่อนหน้านี้ผมอยากเป็นนักเขียนไร้สัญชาติ” เขายอมรับ “แต่ผมเป็นนักเขียนญี่ปุ่น ที่นี่คือแผ่นดินของผม และนี่คือรากของผม เราไม่สามารถหนีไปจากแผ่นดินเกิดของเราได้” แม้เขาจะไม่ได้จำเพาะเจาะจงลงไป แต่ก็ได้ใบ้ว่า นวนิยายเรื่องต่อไปของเขาจะเป็นเรื่องของ "ชาติญี่ปุ่น” อย่างไรก็ตาม แนวทางเดิมของมูราคามิก็ยังคงไม่เปลี่ยนแปลง ไม่ว่าจะในงานของเขาหรือวิถีในการดำเนินชีวิต

“ผมก็เหมือนเดิมนั่นแหละครับ… อิสระ คือผมเป็นชาวญี่ปุ่น แต่ผมก็เป็นตัวเองด้วย” เราคงจะต้องฟังหูไว้หู แต่มันคงไม่มีอะไรผิดหากมีการเมือง การมีส่วนร่วมรับผิดชอบสังคม และความเป็นญี่ปุ่นในตัวมูราคามิและงานของเขาไม่ใช่หรือ?

ตัวตนของเขาเช่นนี้เองที่แฟนๆ ทั่วโลกค้นหาและติดตาม มูราคามิคาดหวังว่าจะเขียนหนังสือจนกระทั่งอายุอย่างน้อย 80 และหวังให้คนทั่วโลกติดตามงานเขาต่อไป

จอห์น อัพไดก์ กล่าวว่า มูราคามิเป็น “นักวาดผู้นุ่มนวลในดินแดนที่ไร้คำนิยาม” บางทีนั่นอาจจะเป็นศักยภาพในการเขียนที่สามารถครองใจคนทั่วโลกได้

“เวลาผมเขียนนิยาย ผมจมลงไปในที่ซึ่งไร้คำนิยาม” มูราคามิกล่าว

จะมีอะไรสากลไปกว่าการเล่าถึงสิ่งต่างๆ อันไร้ชื่อในฝันยามหลับของคนเรา? มูราคามิไม่ได้ให้คำนิยามกับดินแดนซึ่งไร้คำอธิบายนั้น เขาปล่อยให้เรื่องราวเหล่านั้นดำเนินไป แต่ให้เพื่อนเดินทางมาแก่คนอ่าน, นั่นคือน้ำเสียงของเขา เพื่อที่เราจะได้ไม่เผชิญหน้ากับมันเพียงลำพัง

เออิโซ มัทสุมูระ ช่างภาพผู้รู้จักมูราคามิตั้งแต่เขาเปิดแจ๊สคาเฟได้เล่าถึงน้ำเสียงนั้น เขามีปัญหาเรื่องการได้ยิน ตามปกติจึงต้องอ่านปากในการสนทนา ยกเว้นญาติและเพื่อนสนิท แต่เขากลับได้ยินมูราคามิอย่างสมบูรณ์ที่สุด

เขาว่า “ผมไม่รู้จะอธิบายอย่างไร อาจจะเป็นแรงสั่นสะเทือน…หรืออาจเป็นอย่างอื่น”

มันอาจฟังดูเป็นภาษากวีเหลือเกิน แต่สีหน้าเปี่ยมสุขของมัทสุมูระไม่ได้โกหก

“ผมได้ยินเสียงเขา มันดังกังวานอยู่เสมอ”

……………………..

บทความจาก นิตยสาร TIME Asia สัปดาห์ที่สอง เดือนสิงหาคม 2007

รายงานโดย Bryan Walsh

Author: hud-tsu-ka

I'm not a nice guy but I wanna be a good guy.

8 thoughts on “ฮารูกิ มูราคามิ นักเขียนนามอุโฆษชาวญี่ปุ่นได้กลับบ้านเกิดแล้ว – ยกมาจาก onopen

  1. ผมเป็นแฟนนักเขียนคนนี้ เริ่มอ่านเรือง Hard boiled wonder land and the end of the world แล้วชอบเป็นวรรคเป็นเวร ค่อยๆตามเก็บ ย้อนหลัง ไปหน้า จนเกือบครบทุกเรือ่ง (ยกเว้นพวกบทความในนิตยสาร) อ่านได้ทุกเรือง แต่เรื่องที่ชอบมากๆ ก็เช่น wild sheep chase, spuknit sweetheart

  2. เรืองสั้นก็เขียนได้ดี อย่างเรื่องผีที่ผมเคยเขียน ก็มีเค้าบันดาลใจจากเรือ่งสั้น Mirror ของนักเขียนคนนี้ที่น่าชมเชยอีกคนคือ คนที่แปลมาเป็นภาษาอังกฤษ Jay Rubin เก่งนะ อ่านแล้วไม่มีกลิ่นนิยายตะวันตกมากนัก ออกแนวเอเชีย นิยายของเขา มีลักษณะเฉพาะตัว เรือ่งบรรยากาศ เรื่องความคลุมเคลือ ไม่กระจ่าง ตัวละครที่เหมือนหลุดจาก ฝัน โรงพยาบาลบ้า แต่ก็ลงตัว..ขอบคุณที่อัพเดทข่าวสารครับ

  3. เราอ่าน spuknit sweetheart เป็นเรื่องแรกคลั่งมากจนไปค้นคว้าทฤษฎี eternal return ของ Nietzsche อยู่พักนึงเลยอ่ะแล้วต่อมาก็อ่าน wild sheep chase กับ hard boiled wonder land and the end of the world ชอบทั้งสามเรื่องมากๆๆๆๆๆๆแต่อย่างเรื่อง pinball เราไม่ชอบนะอ่านรอบเดียวเก็บเข้ากรุลืมไปเลยปล. ตามข่าวดูจากเว็บมุราคามิ เห็นบอกว่าจะมีงานใหม่ชื่อ 1Q84 — รออ่านๆ

  4. ขออนุญาติ ฮัดนะ – แนะนำให้ลองหาเรื่อง Underground มาอ่าน เป็นอีกแบบของเขา เขียนจากการไล่สัมภาษณ์คนที่อยู่ในเหตุการณ์/ได้รับผลกระทบจาก เหตุการณ์รถไฟใต้ดินที่โดนโอมชินริวเกียวเล่นงาน ซีเรียสดี

  5. จำได้ว่าสเปซเรามีแฟนมุราคามิหลายคน ขอสารภาพว่า ตัวผมเองไม่ใช่แฟนมุราคามิ แต่ว่าเคยอ่านเคยซื้อ จำได้ว่าอ่านหลายเล่มอยู่ ที่พอจำได้คือ After the Quake ส่วนเล่มอื่นๆผมจำไม่ได้แล้วตามประสาคนความจำสั้น ตอนนี้ผมอ่านเล่มไหน ถึงขั้นต้องจดชื่อเอาไว้ เพราะจำไม่ได้จริงๆขอบคุณพี่ปูสำหรับคำแนะนำครับ

  6. อ่านแล้วอยากจะไปเริ่มเขียนหนังสือซะตอนนี้เลย = ="

  7. ผมหลุดกระแสมาก ๆ ไม่เคยอ่านมูราคามิเลยครับ

  8. ต้องลองไปหามาอ่านนะโจ้เอาเรื่องที่พี่ปูชอบก็ได้ เราก็ชอบเหมือนกัน ^^ll

Leave a reply to Le temps Cancel reply