life is short, the stories.

share our Idea & Stories.


5 Comments

ทำไมต้องใช้ฟักทองในวันฮาโลวีน

เรื่องราวของฟักทองกับวันฮาโลวีนนั้น

มีเรื่องราวเล่ากันมาจากนิทานปรัมปราของชาวไอริชที่เล่าถึง

แจ๊คจอมตืด ซึ่งเป็นนักเล่นกลจอมขี้เมา

วันหนึ่งเขาหลอกล่อปีศาจขึ้นไปบนต้นไม้ และเขียนกากบาทไว้ที่โคนต้นไม้

ทำให้ปีศาจลงมาไม่ได้ จากนั้นเขาได้ทำข้อตกลงกับปีศาจ

“ห้ามนำสิ่งไม่ดีมาหลอกล่อเขาอีก” แล้ว เขาจะปล่อยปีศาจลงจากต้นไม้

เมื่อแจ็คตายลง เขาปฏิเสธที่จะขึ้นสวรรค์

ขณะเดียวกันปฏิเสธที่จะลงนรก ปีศาจจึงให้ถ่านที่กำลังคุแก่เขา

เพื่อเอาไว้ปัดเป่าความหนาวเย็นท่ามกลางความมืดมิด

และแจ็คได้นำถ่านนี้ใส่ไว้ในหัวผักกาดเทอนิพที่ถูกเจาะให้กลวง

เพื่อให้ไฟลุกโชติช่วงได้นานขึ้น

ชาวไอริชจึงแกะสลักหัวผักกาดเทอนิพ และใส่ไฟในด้านใน

อันเป็นอีกสัญลักษณ์ของวันฮาโลวีน

เพื่อระลึกถึง “การหยุดยั้งความชั่ว”

Trick or Treat เพื่อส่งผลบุญให้กับญาติผู้ล่วงลับ

และพิธีทางศาสนาเพื่อทำบุญวันปีใหม่

แต่เมื่อมีการฉลองฮาโลวีนในสหรัฐอเมริกา

ชาวอเมริกาพบว่า ฟักทองหาง่ายกว่าหัวผักกาดมาก จึงเปลี่ยนมาใช้ฟักทองแทน

หัวผักกาดจึงกลายเป็นฟักทองด้วยเหตุผลนี้เอง

นอกจากนี้ยังมีอีกหนึ่งเรื่องเล่าที่คล้ายคลึงกันเกี่ยวกับ

ซาตานกำลังจะไปรับวิญญาณของคนเจ้าเล่ห์ที่ชื่อว่าเเจ็ค(อีกแล้ว)

แจ๊คจึงชวนให้ซาตานดื่มเหล้าด้วยกัน

และหลอกล่อให้ซาตานแปลงร่างเป็นเหรียญเพื่อนำไปจ่ายค่าเหล้า

และแจ็คก็นำเหรียญนั้นไปใส่รวมไว้กับไม้กางเขน

ทำให้ซาตานแปลงกลับมาเป็นร่างเดิมไม่ได้

ซาตานจึงต้องสัญญากับเเจ๊คว่าจะไม่มายุ่งกับเขาอีกเป็นเวลาหนึ่งปี

และถ้าเขาตายเมื่อไหร่ ซาตานก็ไม่มีสิทธิเอาวิญญาณของเขาไป

จากนั้นหนึ่งปีผ่านไป ซาตานก็กลับมาอีก

คราวนี้เเจ็คหลอกล่อให้ซาตานปีนไปเก็บแอปเปิ้ลบนต้น

และแอบสลักรูปกางเขนไว้บนต้นแอปเปิ้ล ซาตานจึงลงมาไม่ได้

และถูกบังคับให้สัญญาอีกตามเคยว่าจะไม่มายุ่งกับแจ๊คไปอีกสิบปี

สิบปีผ่านไปนายแจ๊คตายลงแต่สวรรค์ก็ไม่ต้อนรับเพราะเป็นคนเจ้าเล่ห์

นรกก็ไปไม่ได้เพราะดันบังคับให้ซาตานสัญญาไว้

จึงต้องกลายเป็นวิญญาณเร่ร่อน

มีเพียงก้อนถ่านที่ซาตานให้ไว้คอยส่องแสงนำทาง

และเพื่อรักษาถ่านให้ส่องสว่างนานที่สุด

วิญญาณของนายแจ็คจึงคว้านหัวผักกาดแล้วใส่ก้อนถ่านลงไป

คนไอริชจึงเรียกผีแจ็กกับตะเกียงว่า Jack of Lantern (และเพี้ยนมาเป็น Jack O’Lantern)

ต่อมาเมื่อถึงวันฮัลโลวีนชาวเมืองจึงทำตะเกียงแจ็กด้วยการแกะสลักหัวผักกาด

ให้เป็นหน้าตาน่ากลัว

นำไฟใส่ไว้ด้านในเพื่อขับไล่ผีแจ็กและวิญญาณต​่างๆ

จนภายหลังก็เปลี่ยนจากการใช้หัวผักกาดมาเป็นฟ​ักทองเพราะหาได้ง่ายกว่า

ขอบคุณข้อมูลจาก เดลินิวส์


15 Comments

ถุงผ้า ลดโลกร้อน?

 

image

ถุงผ้าดิบที่ผลิตจากเส้นใยฝ้าย

– ไร่ฝ้ายนั้นเป็นพื้นที่เกษตรกรรมที่ต้องการน้ำมากที่สุดในโลก

และใช้สารเคมีในระดับต้นๆเมื่อเปรียบเทียบกับการปลูกพืชชนิดอื่นๆ คิดเห็นร้อยละ 16 ของสารเคมีการเกษตรที่ใช้กันทั่วโลก

เพื่อให้ได้ผลผลิตฝ้าย 1 ก.ก. ต้องใช้น้ามากถึง 7,000 – 23,000 ลิตร ปุ๋ยเคมี 457 กรัม ยาฆ่าแมลง 16 กรัม

สำหรับ

ถุงผ้าโพลีเอสเตอร์ผลิตจากเส้นใยสังเคราะห์

– เพื่อให้ได้เส้นใยโพลีเอสเตอร์ 1 ก.ก. ต้องใช้ก๊าซธรรมชาติหรือน้ำมันดิบประมาณ 1.5 ก.ก.

 

เปรียบเทียบเฉพาะขั้นตอนการผลิต ถุงผ้าฝ้ายใช้พลังงานก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 1.5 เท่า

แต่สุดท้ายเมื่อสิ้นสุดการใช้งาน ถุงผ้าโพลีเอสเตอร์ไม่ย่อยสลาย ขณะที่ถุงผ้าสามารถย่อยสลายได้

 

ผลการศึกษาของหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อมของออสเตรเลียระบุว่า

หากพิจารณาจากพลังงานทั้งหมดที่ใช้ในกระบวนการผลิต ถุงผ้าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าถุงพลาสติก 14 เท่า

ดีกว่าถุงกระดาษ 39 เท่า ก็ต่อเมื่อถุงผ้าใบนั้นมีสถิติการใช้งานประมาณ 500 ครั้ง


22 Comments

ถุงขยะไม่น่าแขยง (จาก lonelytrees.net)

image

image

ถนนหนทางในประเทศญี่ปุ่นนั้นสะอาดปราศจากเศษขยะอย่างไม่น่าเชื่อ
ไม่ใช่เพราะว่าญี่ปุ่นมีถังขยะอยู่ทั่วบ้านทั่วเมือง
ตรงกันข้าม ถังขยะไม่ใช่สิ่งที่หาได้ง่ายนัก
เมื่อหาถังขยะไม่ได้ เราก็จำเป็นต้องพกพาขยะติดมือติดตัวไปเรื่อยๆ
หรือไม่ก็ใส่กระเป๋าเอากลับมาทิ้งที่บ้านหมดเรื่องหมดราวกันไป
แต่เอากลับมาทิ้งที่บ้านก็ใช่จะสิ้นปัญหา เพราะเราก็ต้องแยกขยะก่อนทิ้ง
วันนี้รถขยะจะมารับเฉพาะพลาสติก อีกสองวันมารับเฉพาะเศษอาหาร อีกวันมารับเฉพาะโลหะ
ทิ้งผิดประเภท หรือทิ้งเกินกว่าโค้วตาที่ได้รับก็โดนเตือน โดนปรับกันไป

ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ก็ตาม
แต่กิจกรรมในชีวิตประจำวันหลายอย่างของชาวญี่ปุ่นนั้นก็สร้างขยะไม่มากเท่าในบ้านเรา
อย่างการยืนแจกใบปลิว แจกทิชชู่ หรือแจกนิตยสารฟรี ตามข้างถนนนั้นมีคนยื่นมือมารับน้อยมาก
เพราะรับไปแล้วมันจะกลายเป็นภาระที่ไม่น่าแบกสักเท่าไหร่
บ้านเรามีที่ให้ทิ้งขยะมากมาย แม้ว่าภาชนะที่ตั้งวางไว้นั้นจะเป็นถัง
แต่คนจำนวนไม่น้อยก็มองมันเป็นจุด
คือไม่ต้องทิ้งในถังก็ได้ วางข้างๆ กันโอเค ทิ้งไม่ลง แต่ตกอยู่แถวนั้นก็ไม่ผิดบาปอะไร
หรือวันดีคืนดีที่ถังขยะใบประจำนั้นเกิดถูกโยกย้ายไปที่อื่น
ถึงไม่มีถังขยะแม้สักใบ เราก็ยังพร้อมใจกันเอาขยะไปโยนไว้แถวนั้น ตามความเคยชิน

ภาพกองขยะนั้นดูไม่งามตา ซ้ำร้ายไปกว่านั้น ยังทำให้คนเข้าใจผิดไปว่าตรงนี้คือจุดโยนขยะ
ไม่ใช่จุดที่ให้เราเอาขยะมัดใส่ถุงอย่างแน่นหนามาวางไว้รอรถขยะมาเก็บ
ลองได้คิดเช่นนั้นแล้ว บ้านเราเมืองเราก็ย่อมเต็มไปด้วยกองขยะ

ถุงขยะและกองขยะเป็นเรื่องน่าแขยง
แต่ก็มีดีไซเนอร์คนขยันจากดีไซน์เอเจนซี่ที่ชื่อ MAQ ในญี่ปุ่น
ขอลงมือแก้ไขปัญหาด้านหน้าตาที่ไม่น่ามองของจุดทิ้งขยะตามชุมชนด้วยการออกแบบ
แต่ไรแต่ไร เราต่างคุ้นชินกับถุงขยะรุ่นสีดำที่อำพรางของไม่น่ามองข้างใน
และช่วงหลังมานี้ก็มีรุ่นโปร่งใสเพื่อให้ง่ายกับการสอดส่องของไม่ต้องประสงค์
ไม่เคยมีใครบอกว่าห้ามถุงขยะมีลีลาลูกเล่น
หรือมีสีสันสดใสเพื่อช่วยหักกลบลบความหม่นหมองของขยะ
ดีไซเนอร์จาก MAQ มีไอเดียว่า เราสามารถเปลี่ยน ‘ฉาก’ ของการทิ้งขยะในเช้าวันที่รถขยะจะมารับได้
(ที่ญี่ปุ่นอนุญาตให้เอาถุงขยะออกมาตั้งหน้าบ้านเฉพาะวันที่รถขยะจะมาเก็บเท่านั้น)
และสามารถเปลี่ยนกิจกรรมการทิ้งขยะที่ไม่น่าเข้าใกล้
ให้กลายเป็นกิจกรรมที่สนุกและสร้างสรรค์ได้
ด้วยการออกแบบถุงขยะใหม่ ในโปรเจกต์ที่ชื่อ Garbage Bag Art Work

ถุงขยะของเขาเป็นถุงสีขาว ที่มีสีสันและลวดลายแต่พองามเพื่อใช้แยกประเภทของขยะซึ่งรถจะมารับในวันที่ต่างกัน
ถุงสีเขียวเป็นรูปต้นไม้ หมายถึงขยะสด
ลายสีฟ้าเป็นรูปปลาหมายถึงขยะที่เผาไม่ได้
และสีแดงเป็นรูปดอกไม้หมายถึงขยะที่เผาได้
(ส่วนขยะรีไซเคิลนั้นถูกแยกออกไปตั้งแต่แรกแล้ว)
ความแตกต่างของถุงนี้อย่างน้อยๆ มันก็ช่วยเตือนเพื่อนบ้านขี้ลืมได้ว่า
วันนี้เราสามารถทิ้งขยะแบบไหนได้

แล้วก็ยังมีถุงขยะรุ่นถัดมาที่เล่นกับลวดลายน่ารักๆ บนถุง
อย่างเช่นการเชิญอิลัสเตรเตอร์ชื่อดังอย่าง SHiBA มาออกแบบลายหมาหันหลังให้
ไปจนถึงการเล่นกับหูถุง
ล่าสุดมีลายตัวการ์ตูนดังเพื่อใช้สื่อสารกับเด็ก ในโครงการ Eco Kid ที่ทำร่วมกับ SESAME STREET ทุกคนสามารถสนุกกับการวางถุงขยะได้
และกองขยะมันก็ไม่ได้กลายเป็นกองขยะอีกต่อไป
จะบอกว่ามันกลายเป็นงานศิลปะ ก็ฟังดูเกินตัวไปนิด
แต่ก็น่าจะเป็นอะไรที่คล้ายๆ แบบนั้น

ถุงขยะเหล่านี้ถูกนำไปแสดง (หรือใช้จริงก็ไม่ทราบได้) ตามเทศกาลศิลปะทั่วโลก
รวมไปถึงโปรเจกต์ที่ให้อาสาสมัครนำถุงขยะนี้ไปวางจริงๆ ในมุมต่างๆ ทั่วโลก
แล้วถ่ายรูปมาลงในเว็บไซต์ http://www.maq.co.jp/gba (มีรูปจากเมืองไทยด้วย)

ถุงขยะขนาด 45 ลิตรนี้มีวางขายจริงในบางร้าน และเปิดให้สั่งซื้อทางเว็บไซต์ สนนราคาใบละ 15 บาท ก็ได้แต่หวังว่าจะมีคนหาซื้อมาใช้กันเยอะๆ เพราะเป้าหมายของโครงการนี้บอกว่า
ประเทศญี่ปุ่นจะสวยขึ้นด้วยถุงขยะของพวกเขา


11 Comments

ลดโรงเรียน (จาก lonelytrees.net ทรงกลด บางยี่ขัน)

image

เกิดการเปลี่ยนแปลง การเกิดเปลี่ยนแปลง
อัตราการเกิดในแดนปลาดิบนั้นลดต่ำลงอย่างต่อเนื่องมานานกว่าทศวรรษแล้ว
พูดง่ายๆ ก็คือ จำนวนเด็กที่เกิดใหม่ในแต่ละปีลดจำนวนลงอย่างน่าใจหาย
ในความเป็นจริง คงยังไม่มีใจดวงไหนหาย ที่หายเห็นจะมีแต่จำนวนโรงเรียน
ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา โรงเรียนประถม มัธยมต้น และมัธยมปลาย ในสังกัดรัฐบาลญี่ปุ่น
ปิดกิจการไปทั้งหมด 2,125 แห่ง
ส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนประถม
และเมื่อเพ่งตัวเลขดูดีๆ ก็มีแนวโน้มว่า ต้องมีโรงเรียนทยอยปิดกิจการเพิ่มขึ้นอีกแน่ๆ
โรงเรียนจำนวนมากเลยถูกปิดและปล่อยให้รกร้าง อย่างเปล่าประโยชน์
ทางออกที่น่ารักอย่างหนึ่งที่ผมเคยได้ยินเมื่อ 2 ปีก่อนก็คือ การเปิดให้เช่าเพื่อใช้เป็นโลเกชั่นถ่ายหนัง
ได้ยินว่าเป็นแหล่งรายได้ที่ดีทีเดียว แต่ถึงอย่างนั้น ก็ใช่ว่าจะทุกที่จะมีคนมาขอเช่าถ่ายหนัง
โรงเรียนจำนวนไม่น้อยเลยปิดตาย ทั้งๆ ที่ข้าวของเครื่องใช้ในโรงเรียนยังใช้การได้

กระทรวงการศึกษา วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี (ชื่อจะยาวไปไหน) ของประเทศญี่ปุ่น
หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า MEXT เลยออกสำรวจเก็บข้อมูลโรงเรียนร้างทั่วประเทศ
ว่ามีเขตแคว้นแดนใด นำโรงเรียนที่ปิดกิจการเหล่านี้ไปใช้ทำอะไรดีๆ บ้าง
ก็เลยเกิดเป็นเอกสารเผยแพร่ที่ชื่อว่า
50 ways to renew a closed-down school

เอกสารชุดนี้บอกเล่าถึงไอเดียดีๆ ว่ามีคนนำโรงเรียนเก่าไปเปลี่ยนร่างให้กลายเป็นอะไรบ้าง
โดยมีข้อแม้ว่า ต้องไม่ใช่การทุบอาคารทิ้งแล้วสร้างตึกขึ้นมาใหม่
นั่นหมายความว่า ในสายตาของกระทรวงชื่อยาวนี้ โรงเรียนที่ปิดบริการไม่ใช่โรงเรียนร้างไร้ค่า
แต่ว่าเป็นทรัพย์สินที่สามารถนำมาแปรรูปสร้างประโยชน์ได้มากมาย
อย่างเช่น ในจังหวัดซาซายามะ เมืองเฮียวโกะ ได้แปลงโรงเรียนเก่าให้เป็น
Sasayama Children’s Museum หรือพิพิธภัณฑ์การเรียนและเล่นสำหรับเด็ก
โดยมีเป้าหมายว่า เมื่อเด็กเข้ามา พวกเขาจะได้เรียนในสิ่งที่ไม่สามารถเรียนได้จากในโรงเรียน
เด็กๆ จะได้รับประสบการณ์จากการเวิร์กช็อป การชมภาพยนตร์ ทำอาหาร
ถ้าเหนื่อยก็สามารถพักในสวนวิเศษ
ที่นี่คงเป็นพิพิธภัณฑ์ที่น้องหนูอาจจะสนุกกับการวิ่งเล่นเป็นพิเศษ
เพราะอยู่ท่ามกลางบรรยากาศของโรงเรียนอันคุ้นเคย

ที่จังหวัดยามะนะชิ เมือโฮะคุโตะ ก็เปลี่ยนโรงเรียนให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว
โดยมีตึกเรียนสามหลังที่สร้างในสามยุคเป็นไฮไลท์ จะเรียกว่าเป็นโรงเรียนสามแผ่นดินก็ไม่ผิด
ตึกเรียนจึงถูกใช้เป็นพิพิธภัณฑ์และใช้จัดกิจกรรมเกี่ยวกับการทำการเกษตร
และใช้เป็นที่พักของนักท่องเที่ยว
ร้านอาหารก็เหลือร้าย เน้นขายเมนูอาหารโรงเรียนที่เคยกินเมื่อครั้งยังเยาว์ให้ได้ระลึกความหลังกันโดยถ้วนทั่ว

ไอเดียของการนำโรงเรียนเก่าในโตเกียวมาทำสำนักงานก็น่าสนใจ
ไม่ว่าจะเป็นโครงการ Nishi-Nippori Start-up Office ที่ให้เช่าแบบไม่คิดอะไรมาก
หรือโครงการ The Ikejiri Institute of Design ที่ออกแบบมาแล้วเป็นอย่างดี
โครงการนี้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2004
ด้วยการเปลี่ยนโรงเรียนเป็นสถานที่ทำงานของศิลปินและนักออกแบบทั้งหลาย
ด้วยความคาดหวังว่าอาคารสามชั้นหลังนี้จะเต็มไปด้วยองค์กรเก่งๆ เก๋ๆ
แล้วก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้น เพราะคนทำงานด้านสถาปัตยกรรม ศิลปะ ภาพยนตร์ อาหาร แฟชั่น
ต่างพากันมาจับจองพื้นที่ห้องเรียนเพื่อใช้เป็นสำนักงาน
เหตุผลหนึ่งก็คือ มันเป็นออฟฟิศที่ให้บรรยากาศสมัยเด็กซึ่งทุกคนต่างถวิลหา
จะคิดอ่านอะไรสมองก็ดูจะโลดแล่นมากกว่าปกติ
แล้วก็ยังมีโรงเรียนที่ทางรัฐจัดการเปลี่ยนให้เป็นสถานที่จัดค่ายศึกษาธรรมชาติ
(ได้ใช้ประโยชน์จากหอดูดาวของโรงเรียนด้วย)

บางแห่งก็ใช้เป็นโรงพยาบาล บางแห่งก็ใช้เป็นบ้านพักคนชรา
บางแห่งก็ใช้เป็นทั้งบ้านพักคนชราและบ้านพักเด็กด้อยโอกาส
โดยหวังว่าคนชราและเด็กจะอยู่ร่วมกันโดยต่างเติมเต็มในสิ่งที่อีกฝ่ายขาด
บางแห่งก็ใช้เป็นที่พักฟื้นสภาพจิตใจของผู้ป่วย
และบางแห่งก็ใช้เป็นศูนย์กีฬาในร่ม

ทุกฝ่ายเห็นตรงกันว่า อย่างไรเราก็คงหยุดแนวโน้มการปิดตัวของโรงเรียนไม่ได้
แต่ทำอย่างไรเราถึงจะนำโรงเรียนที่ปิดตัวไปแล้วมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
การปิดตัวของโรงเรียนเป็นปรากฏการณ์
การอยากเข้าไปใช้พื้นที่ในโรงเรียนก็เกือบจะเป็นปรากฏการณ์
เนื่องจากโรงเรียนเป็นสถานที่เก็บความทรงจำในวัยเยาว์ของคนจำนวนมาก
แค่การกลับไปเดินในโรงเรียนเก่าสักครั้ง เรายังได้ความรู้สึกดีๆ มากมาย
คนและหน่วยงานจำนวนไม่น้อยเลยมีความสุขกับการได้กลับไปอยู่ใกล้ๆ โรงเรียนของพวกเขาอีกครั้ง

ตอนนี้ใครๆ ก็อยากกลับไปโรงเรียน
ทีตอนเป็นเด็กล่ะไม่เห็นอยากไปแบบนี้เลย