life is short, the stories.

share our Idea & Stories.


6 Comments

จากวังน้ำเขียวถึงเตาปูน

วันที่ 19 ธ.ค. 2554 เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติทับลานพยายามนำกำลังเช้ารื้อรีสอร์ทที่สร้างรุกล้ำเขตพื้นที่อุทยานฯ แต่โดนขัดขวางจากม็อบชาวบ้านไม่ให้เข้าไปดำเนินการ โดยอ้างว่ารีสอร์ทเหล่านี้เป็นแหล่งสร้างรายได้และความเจริญให้แก่ชุมชน คืนวันเดียวกันเจ้าหน้าที่จึงกลับมาอีกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงการขัดขวางจากชาวบ้านและทำการรื้อถอนรีสอร์ทเหล่านี้ตามคำสั่งของศาล ประเด็นที่น่าสนใจอีกกรณีก็คือ รีสอร์ทจำนวนมากมายและมีพื้นที่กว้างขนาดนี้ไม่ใช่กระสอบทรายที่พอข้ามคืนเช้ามาก็ก่อสร้างเสร็จ มันต้องมีการยื่นขออนุมัติ ต้องมีการปรับพื้นที่รวมทั้งการก่อสร้างถาวรวัตถุกันเป็นเดือนๆ ทางเจ้าหน้าที่จะไม่มีใครรู้เรื่องเลยเชียวหรือ

22 ธ.ค. 2554 เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้แผนเดอะแคทอะเกน(ปิดประตูตีแมว)เข้าตะลุยบ่อนย่านเตาปูนซึ่งมีชื่อเสียงเก่าแก่แต่ยังไม่เคยทำอะไรได้สักที ส่วนหนึ่งที่น่าจะมามาจากอิทธิพลของเจ้าของบ่อนแล้ว ยังมีชาวบ้านในละแวกให้ความช่วยเหลือเป็นหูเป็นตาให้กับบ่อน และในวันที่ตำรวจบุกนั้น ชาวบ้านส่วนหนึ่งพยายามพังกำแพงด้านหลังบ่อนเพื่อช่วยนักพนันเหล่านั้นหนีรอดจากการจับกุม คาดว่าเจ้าของบ่อนคงได้บำรุงชาวบ้านในท้องถิ่นไม่ใช่น้อย อีกทั้งชาวบ้านส่วนหนึ่งก็เข้าไปทำงานในบ่อนอีกด้วย

ทั้งสองคดี เป็นเรื่องที่มีจุดร่วมเดียวกันคือ ชาวบ้านที่ได้ผลประโยชน์เป็นฝ่ายปกป้องผู้กระทำผิด

แทนที่จะเป็นผู้ที่ช่วยเหลือฝ่ายเจ้าหน้าที่ตำรวจ

เพียงเพราะผลประโยชน์ที่ตัวเองได้รับ โดยไม่คำนึงถึงผลเสียใดๆ

ไม่ได้คำนึงถึงป่าจำนวนเท่าไร ที่ควรจะเก็บไว้ให้ลูกหลานได้ใช้ประโยชน์บ้าง

ไม่ได้คำนึงถึงว่าบ่อนจะเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อบายมุข หรือยาเสพติด

คล้ายกับคนที่กำลังขุดหาแร่

ขณะที่กำลังขุดเพื่อหวังผลประโยชน์จากแร่ที่ก้นหลุม

ก็กำลังขุดเพื่อฝังตัวเองไว้ที่ก้นหลุมเช่นเดียวกัน

และก็คิดว่าคงไม่ใช่มีแค่ 2 หลุมที่ได้เขียนถึง

บนโลกนี้คงจะมีไม่รู้กี่พัน กี่หมื่นหลุม

และเพราะความเห็นแก่ตัว ความโลภ ความเขลา ก็ทำให้มนุษย์ยังคงตั้งหน้าตั้งตาขุดหลุมฝังตัวเองอยู่ต่อไป

.

(ลงล่าช้าไปหน่อย เพราะว่าเขียนค้างเอาไว้แล้วก็ลืม พอเอามาเขียนต่อให้จบ ก็เลยช่วงเวลามาหลายเดือนแล้ว)


5 Comments

พุทธชยันตี

buddhajayanti

ลองค้นใน internet ได้ความว่า…

คำว่า “พุทธะ” แปลว่า “ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน” อันหมายถึง “พระสัมมาสัมพุทธเจ้า”

ส่วนคำว่า “ชยันตี” บ้างก็แปลว่า  “การเฉลิมฉลองชัยชนะ” บางที่ก็แปลว่า “วันครบรอบ”

แต่จากแหล่งข้อมูลที่น่าเชื่อถือได้ที่สุด www.dhammajak.net

“ชยันตี” แปลว่า “ชัยชนะ”

พุทธชยันตี จึงมีความหมายว่า “ชัยชนะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง”

วันวิสาขบูชาในปีพุทธศักราช 2555 นี้ จะครบรอบ 2600 ปี นับจากวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้

โดยนับจากวันที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ เมื่อพระชนมายุ 35 ปีจนถึงปรินิพพาน เป็นเวลา 45 ปี

และจากปีที่ปรินิพพานไปแล้ว 1 ปีนับเป็น พ.ศ. 1

ฉะนั้นปี 2555 + 45 ปี จึงเท่ากับ 2600 ปีพอดี

.

ที่จริงแล้วถึงเวลาครบรอบนี้ พระพุทธศาสนา ก็ได้เข้าสู่ช่วงหลังกึ่งพุทธกาลแล้ว

ก่อนที่จะถึง ยุคพระศรีอาริยเมตไตรย

ซึ่งหากใครสนใจเรื่องนี้ลองหาอ่านดูจาก internet หรือจากหนังสือ ซึ่งสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ เรื่องคำทำนายของพระพุทธเจ้า ถึงเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นหลังกึ่งพุทธกาล ก็ลองหาอ่านดูเพิ่มเติมแล้วกัน หากได้ลองอ่านแล้วจะรู้ว่า คำทำนายได้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ

.

ในรายการ “พื้นที่ชีวิต” ซึ่งคุณ “นิ้วกลม” เป็นพิธีกร

ได้พูดว่า “ประเทศไทย มีพระพุทธ มีพระสงฆ์ แต่พระธรรม นี่ไม่ค่อยแน่ใจ”

ในสมัยก่อนคนเข้าวัดทำบุญ ก็จะอธิษฐานว่า ขอให้ได้เกิดในร่มโพธิ์ของพระพุทธศาสนาอีก หรือไม่ก็ขอให้ได้ไปนิพพาน แต่ในสมัยนี้ เราขอพรกันอย่างไรบ้าง ก็คงรู้ๆกันอยู่

จากหลักการที่สอนให้เรา “ลด ละ เลิก” กลับถูกผูกติดกับ “กระแสบริโภคนิยม”

ไม่ว่าการชี้ชวนให้ทำบุญ เรียงตู้บริจาคกันเป็นแถวยาว การสร้างโบสถ์ วิหาร ใหญ่โต หรูหรา หรือรูปเคารพใหญ่โต เพื่อดึงดูดผู้คน

น่าแปลกที่ที่ พระพุทธเจ้า เดินออกจากวัง เพื่อหาความเรียบง่ายจากธรรมชาติ

แต่เหล่าพุทธบุตรกลับสร้างวังขึ้นมาอีก

วังที่เรียกว่าวัด วังที่ขังอัตตาเอาไว้ข้างใน และกันความจริง(ธรรมชาติ)เอาไว้ข้างนอก

ผมดูข่าวแล้วก็รู้สึกน่าขัน – งานพุทธชันตีของบ้านเราจัดขึ้นใน hall ของห้างสรรพสินค้า

.

พระพุทธเจ้า สอนให้เราเป็น ผู้รู้ ผู้ตื่น จากกิเลส และจาก “ความไม่รู้ทั้งปวง”

หากระยะเวลาอันยาวนานของพุทธศาสนา

“ความไม่รู้จริง” ทำให้เรากลับไป “สะลึมสะลือ” อีกครั้ง

.